21 กุมภาพันธ์ 2552

โครงการป้องกันวัณโรค



โครงการป้องกันและควบคุมวัณโรค
โดยการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่และวิธี DOTS ในระดับชุมชน
CUP อำเภอพรเจริญ จังหวัดหนองคาย ประจำปีงบประมาณ 2552

หลักการและเหตุผล
วัณโรคเป็นโรคที่ระบาดไปทั่วโลก อัตราส่วนสูงสุดในทวีปแอฟริกา (ร้อยละ 29 ของผู้ป่วยทั้งหมด) แต่จำนวนครึ่งหนึ่งอยู่ใน 6 ประเทศของทวีปเอเชีย ( อินเดีย จีน อินโดนีเซีย บังคลาเทศ ปากีสถาน และ ฟิลิปปินส์ ) มีผู้ป่วยใหม่ประมาณ 9 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2004 ร้อยละ 80 อยู่ใน 22 ประเทศ มีผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา ( MDR-TB ) ใน 109 ประเทศ วัณโรคจัดเป็นโรคติดต่อที่สำคัญ และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตหนึ่งในห้าอันดับแรกของประเทศไทย
การควบคุมวัณโรคของประเทศไทยยังได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ จากปัจจัยหลายอย่างอัตราป่วยและอัตราตายมีแนวโน้มสูงเพิ่มขึ้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา
จากรายงานขององค์การอนามัยโลก ปี 2007 ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับ 18 ใน 22 ประเทศที่มีความรุนแรงวัณโรค คาดว่ามีผู้ป่วยทั้งสิ้น 131,000 ราย(204/แสนประชากร) ผู้ป่วยใหม่ทุกประเภท 91,200 ราย(142/แสนประชากร) ผู้ป่วยใหม่เสมหะบวก 40,500 ราย( 63/แสนประชากร) คาดว่าผู้ป่วยเสียชีวิตปีละ 12,200 ราย จากการทบทวนแผนงานวัณโรคแห่งชาติโดยคณะผู้เชี่ยวชาญวัณโรคจากองค์การอนามัยโลกมีข้อเสนอแนะที่ต้องเร่งรัดการดำเนินงานวัณโรค เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอัตราการรักษาหายและกินยาครบหรือที่เรียกว่าอัตราความสำเร็จของการรักษาวัณโรค (Treatment success rate) มากกว่าร้อยละ 90
แนวทางการรักษาที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก คือ การรักษาผู้ป่วยวัณโรค โดยมีพี่เลี้ยงคอยกำกับการกินยา ต่อหน้าทุกวัน ที่เรียกว่า DOTS ( Directly Observed Treatment System) ซึ่งองค์การอนามัยโลก(WHO)ได้ให้เสนอแนะให้ทุกประเทศทั่วโลก ใช้แนวทางการรักษาเพื่อเพิ่มอัตราความสำเร็จ ในการรักษาวัณโรคโดยพี่เลี้ยงหมายถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. หรือบุคคลในครอบครัว เพื่อคอยดูแลผู้ป่วยวัณโรคให้กินยาทุกวัน ให้กำลังใจเพื่อให้ผู้ป่วยได้กินยาจนกระทั่งหายขาด ไม่เกิดปัญหาดื้อยาวัณโรคและการแพร่เชื้อวัณโรคในชุมชนต่อไป
เพื่อให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการสร้างความตระหนักในระดับชุมชนและร่วมกันส่งเสริมป้องกันปัญหาของวัณโรคให้ลดน้อยลงต่อไป อำเภอพรเจริญ โดยหน่วยบริการปฐมภูมิตำบลพรเจริญ โรงพยาบาลพรเจริญ จึงได้เร่งรัดดำเนินการโครงการป้องกันและควบคุมวัณโรค โดยการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่และวิธี DOTS ในระดับชุมชน ต่อไป

คลังบทความของบล็อก