07 พฤศจิกายน 2555

รณรงค์โรคคอตีบ

ตามที่มีรายงานผู้ป่วยโรคคอตีบหลายรายในพื้นที่ ๔ จังหวัดคือ จังหวัดเลย  หนองบัวลำภู  เพชรบูรณ์ และสุราษฎร์ธานี  สถานการณ์โรคคอตีบ(ตั้งแต่  ๑ มิถุนายน - ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๕) พบผู้ป่วยโรคคอตีบ  จำนวน ๖๐ ราย  ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต ๓ ราย  คือในจังหวัดเลย ๒ ราย จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ๑ ราย  ซึ่งสถานการณ์ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใหญ่ที่อาจไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน

ในการนี้ ศูนย์สุขภาพชุมชนตำบลพรเจริญ โรงพยาบาลพรเจริญ  ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขในหมู่บ้านรณรงค์ป้องกันโรคคอตีบ แจกแผ่นพับและขอความร่วมมือให้ผู้นำชุมชนและโรงเรียนในพื้นที่มีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทราบเกี่ยวกับสถานการณ์  อาการของโรค  การติดต่อและการป้องกันโรคคอตีบ
สาเหตุ
เกิดจากเชื้อคอตีบ ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย   ซึ่งมีอยู่ในน้ำมูก  น้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วย
การติดต่อ
ส่วนมากจะติดต่อโดยการหายใจ  ไอ  จามรดกัน  หรือพูดคุยกันในระยะใกล้ชิด   บางครั้งอาจติดต่อกันได้โดยการใช้ภาชนะร่วมกัน  เช่น  แก้วน้ำ  ช้อน  หรือการดูดอมของเล่นร่วมกันในเด็ก
อาการ
            1. มีไข้ต่ำๆมีอาการคล้ายหวัด
            2. มีอาการไอเสียงก้อง
            3. เจ็บคอ
            4. เบื่ออาหาร
            5. บางรายพบต่อมน้ำเหลืองที่คอโต
            6. พบแผ่นเยื่อสีขาวปนเทาติดแน่นอยู่บริเวณทอนซิลและบริเวณลิ้นไก่
            7. บางรายทางเดินหายใจตีบตัน หายใจลำบากถึงตายได้
            8. อันตรายที่สุดคือเชื้อโรคไปที่หัวใจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและทำให้เสียชีวิตแบบเฉียบพลัน
การป้องกัน
            1.ในเด็กควรให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ 5 ครั้ง  เมื่ออายุ  2 เดือน  4 เดือน  6 เดือน 18 เดือน  และตอนอายุ 4 ปี
            2. เมื่อมีผู้ป่วยอาการสงสัยคล้ายโรคคอตีบให้พาไปพบแพทย์ พร้อมกับให้ผู้ป่วยใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ     
            3. ถ้าแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคคอตีบให้ทำการแยกผู้ป่วยรวมทั้งข้าวของเครื่องใช้
            4. ที่สำคัญในการป้องกันโรคคือ  กินของร้อน  ใช้ช้อนกลาง  ล้างมือบ่อยๆ

คลังบทความของบล็อก