09 กรกฎาคม 2553

คู่มือการดูแลระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบเอสบีอาร์(SBR) PCU โรงพยาบาลพรเจริญ

ทบทวนแนวคิดที่สำคัญของระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบเอสบีอาร์ (SBR)
ระบบเอสบีอาร์ (Sequencing Batch Reactor)
หลักการทำงาน

ระบบเอสบีอาร์ เป็นระบบบำบัดน้ำเสียทางชีววิทยาแบบตะกอนเร่ง รูปแบบหนึ่งที่ถังเติมอากาศเป็นแบบปล่อยน้ำเสียให้เข้าสู่ถังเติมอากาศให้เต็มก่อน จากนั้นปิดถังและเติมอากาศสลับกัน หยุดการเติมอากาศให้เกิดการตกตะกอนในถังเติมอากาศเพราะถังตกตะกอนและถังเติมอากาศเป็นถังเดียวกัน เมื่อบำบัดจนครบวงจรแล้วจึงระบายน้ำใสไปยังถังเติมคลอรีนและปล่อยออกสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะต่อไป
ลักษณะการทำงานของถังปฏิกิริยา(ถังเติมอากาศและตกตะกอน) แบ่งเป็น 5 ช่วง คือ
1.ช่วงเติมน้ำเสีย (Fill) เป็นช่วงที่มีการเติมน้ำเสียเข้าสู่ถังปฏิกิริยาที่มีน้ำตะกอนจุลินทรีย์จากวงจรการทำงานก่อนหน้านี้ การเติมน้ำเสียทำให้ระดับน้ำในถังปฏิกิริยาสูงขึ้น จากเดิมที่มีอยู่ตั้งแต่ร้อยละ 20-100 โดยปริมาตรถัง ช่วงเวลาการเติมน้ำเสียจะขึ้นอยู่กับอัตราการไหลตามธรรมชาติของน้ำเสียนั้น หรือความสามารถของเครื่องสูบน้ำ
2.ช่วงทำปฏิกิริยา (React) เป็นช่วงที่เกิดปฏิกิริยาบำบัดน้ำเสีย อาจจะมีการกวนหรือการเติมอากาศในถังปฏิกิริยา ระยะเวลาที่ใช้ในการทำปฏิกิริยาจะขึ้นกับคุณภาพน้ำทิ้ง(effluent) ที่ต้องการแต่ต้องมีระยะเวลาที่เพียงพอที่จะทำให้เกิดปฏิกิริยาอย่างสมบูรณ์
3.ช่วงตกตะกอน (Settle) เป็นช่วงที่เกิดการแยกตัวของตะกอนออกจากน้ำใสโดยช่วงนี้จะไม่มีการรบกวนจากการเติมอากาศหรือการกวนระยะเวลาในการตกตะกอนไม่ควรนานเกินไปเพื่อป้องกันปัญหาตะกอนลอยตัว
4.ช่วงระบายน้ำทิ้ง (Draw, Decant) เป็นช่วงระบายน้ำใสที่ผ่านการบำบัดแล้วออกจากถังปฏิกิริยา ระยะเวลาการระบายขึ้นอยู่กับการออกแบบระบบแต่ไม่ควรใช้เวลานานเกินไปและไม่ควรมีตะกอนหลุดออกจากถังปฏิกิริยา
5.ช่วงพักระบบ (Idle) เป็นช่วงการพักระบบเพื่อรองรับน้ำเสียที่จะเข้ามาสู่การบำบัดในถังปฏิกิริยา ช่วงนี้อาจมีการเติมอากาศหรือการกวนซึ่งช่วงพักระบบนี้อาจจะมีหรือไม่มีก็ได้ขึ้นอยู่กับการออกแบบ ระบบ กรณีที่มีน้ำทิ้งมากอาจจะต้องมีถังปฏิกิริยามากกว่า 1 ถัง โดยถังแต่ละถังจะทำหน้าที่ไม่เหมือนกันเพื่อให้สามารถรับและบำบัดน้ำเสียได้อย่างต่อเนื่อง

องค์ประกอบของระบบเอสบีอาร์
1.บ่อสูบน้ำเสีย ประกอบด้วย ตะแกรงดักขยะ หรือกล่องดักขยะ ที่สามารถยกขึ้นมาจากก้นบ่อเพื่อกำจัดขยะ และเครื่องสูบน้ำที่สามารถควบคุมการทำงานได้ทั้งแบบอัตโนมัติและแบบธรรมดา ในบ่อสูบน้ำเสียนอกจากมีน้ำเสียที่ไหลมาจากระบบท่อระบายน้ำของโรงพยาบาลแล้ว ยังมีน้ำเสียบางส่วนที่ไหลมาจากบ่อกำจัดรก ห้องน้ำห้องส้วมในห้องควบคุมระบบและน้ำเสียจากลานตากตะกอน
2.บ่อกำจัดรก เป็นบ่อที่เกิดปฏิกิริยาย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจนทำให้เกิดกลิ่นเหม็น
3.ถังเติมอากาศ (Aeration tank)
3.1 ถังเติมอากาศ (Aerator) ของระบบเอสบีอาร์เมื่อหยุดการเติมอากาศจะเป็นถังตกตะกอนในถังเดียวกัน มีการควบคุมการเติมอากาศโดยเครื่องตั้งเวลา (timer) และสวิตส์ลูกลอยไฟฟ้าภายในถังเติมอากาศ
3.2 เครื่องสูบตะกอน ที่อยู่ภายในถังเติมอากาศมีหน้าที่สูบตะกอนที่มากเกินพอในช่วงหยุดการเติมอากาศเพื่อส่งไปยังลานตากตะกอน ความถี่และระยะเวลาในการสูบตะกอนขึ้นอยู่กับปริมาณตะกอน
3.3 เครื่องสูบน้ำใส เป็นเครื่องที่มีหน้าที่สูบน้ำใสส่งต่อไปยังถังฆ่าเชื้อโรค ซึ่งควบคุมโดยเครื่องตั้งเวลา
3.4 ถังฆ่าเชื้อโรค เป็นถังสี่เหลี่ยมทางด้านน้ำเข้ามีแผ่นเวียร์ (weir) เพื่อใช้วัดอัตราการไหลของน้ำทิ้ง นอกจากนั้นควรมีการเตรียมถังสารละลายคลอรีนสำหรับฆ่าเชื้อโรคด้วย
3.5 ลานตากตะกอน มีลักษณะเป็นลานทราย (sand drying beds) ที่ใช้สำหรับตากตะกอนที่สูบจากบ่อตกตะกอนเพื่อนำไปกำจัดต่อไป

คลังบทความของบล็อก